วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย


การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย

          ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ
         ๑. การบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอำนาจ คือให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการขั้นสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง โดยแบ่งหน่วยงานออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม [รวมทั้งหน่วยงานที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ] หน่วยงานเหล่านี้ปรกติจะตั้งอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
          ปัจจุบันการบริหารราชการส่วนกลาง มีดังนี้
  ระดับกระทรวง มี ๑๔ กระทรวง (รวมสำนักนายกรัฐมนตรี)
  ระดับทบวง  มี ๑ ทบวง
  ระดับกรม  มี ๑๓๖ กรม (ไม่รวมกรมต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม)
          ๒. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอำนาจ คือราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เป็นการลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของรัฐบาลหรือตัวบทกฎหมายของประเทศ
          อนึ่ง อำนาจที่แบ่งให้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจของส่วนกลาง และส่วนกลางแต่ละหน่วยก็แบ่งให้อาจไม่เท่ากัน เช่น บางกรมแบ่งการบริหารงานบุคคลให้ส่วนภูมิภาคแต่งตั้งโยกย้ายได้ตั้งแต่ระดับ ๔ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๖ ลงมา บางกรมให้ตั้งแต่ระดับ ๗ ลงมา
          อำนาจที่แบ่งให้ไปนั้น ราชการบริหารส่วนกลางอาจจะเรียกกลับคืนเมื่อใดก็ได้
          การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี ๕ ระดับ คือ
          ๑. จังหวัด
          ๒. อำเภอ
          ๓. กิ่งอำเภอ
          ๔. ตำบล
          ๕. หมู่บ้าน
          กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคโดยอนุโลม ทั้งนี้ก็เพราะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้กำหนดการบริหารส่วนภูมิภาคไว้เพียง ๒ ระดับ คือจังหวัดและอำเภอ แล้วได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ อีกว่า "การปกครองอำเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่"
          กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ในปัจจุบันจัดการบริหารราชการแผ่นดินในระดับรองลงมาจากอำเภอ ได้แก่ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงจัดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคด้วย
          จังหวัด    มี    ๗๕      จังหวัด
          อำเภอ      มี    ๗๒๙     อำเภอ
          กิ่งอำเภอ  มี    ๘๑        กิ่งอำเภอ
          ตำบล       มี    ๗,๑๕๙  ตำบล
          หมู่บ้าน    มี   ๖๕,๑๗๐ หมู่บ้าน
          (ข้อมูลประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗)
          ๓. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอำนาจ คือส่วนกลางได้โอนมอบอำนาจระดับหนึ่งไปให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ท้องถิ่นทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา และที่ว่า "ปกครองตนเองอย่างอิสระ" นั้น หมายถึงมีอิสระในการตัดสินใจต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาหรือการเสริมสร้างสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น เช่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับประชาชนในเขตการปกครองของตนได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
          การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีรูปแบบดังนี้
          ๑. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อย่าสับสนกับจังหวัด)
          ๒. เทศบาล
          ๓. สุขาภิบาล
          ๔. ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่
                    ๔.๑ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ว่า "ให้กรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..."  ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงไม่ใช้ "จังหวัด" ในความหมายของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
                    ๔.๒ เมืองพัทยา ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารเมืองพัทยา บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ว่า "...ให้เมืองพัทยาเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น..." ดังนั้นเมืองพัทยาจึงมิใช่เทศบาล มิใช่สุขาภิบาล แต่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด
                    ๔.๓ องค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ใหม่) ได้กำหนดให้สภาตำบลที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่รวมเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ติดต่อกัน ๓ ปี ให้ยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
          ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามที่กฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด อย่างสับสนกับ "ตำบล" ที่เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค
          ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดมี ๗๕ เทศบาล ๑๓๘ สุขาภิบาล ๑,๐๗๕ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา อย่างละ ๑ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่จัดตั้ง
ผู้เขียน : นายวิรัช  ถิรพันธุ์เมธี หัวหน้าภาควิชางานในหน้าที่ของปกครอง วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง และกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

ศาลยุติธรรมไทย


ศาลยุติธรรมไทย


ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
ศาลไทย
เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อำนาจตุลาการนั้นเป็นสาขาหนึ่งของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล ศาลจึงปฏิบัติการในพระปรมาภิไทย(: In the Name of the King)
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช2550มาตรา 197 ถึงมาตรา 228 กำหนดศาลไทยมีสี่ประเภท ดังต่อไปนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลยุติธรรม
ศาลปกครอง
ศาลทหาร
ประเทศไทยใช้กฎหมายระบบ civil law หรือระบบประมวลกฎหมาย ดังนั้น คำตัดสิน คำพิพากษา และคำตัดสินของศาลไทย จึงไม่ได้เป็นทั้งกฎหมายไทยและบ่อเกิดของกฎหมายไทยหากเป็นแต่การปรับใช้กฎหมายเท่านั้นเท่านั้น
ประวัติศาลยุติธรรม
ปัจจุบันนี้ศาลและกระทรวงยุติธรรมได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ทางด้าน การพัฒนาบุคลากรและการขยายศาลยุติธรรมให้กว้างขวางครอบคลุมคดีความทุกด้านตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพื่อประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยเสมอหน้าและเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ และทุกท้องที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม การที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมพัฒนาก้าวหน้ามาเช่นนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสถาบันยุติธรรมอย่างแน่นแฟ้นตลอดมาโดยทรงเป็นองค์ตุลาการตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา แม้ปัจจุบันศาลก็ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมได้สถาปนามาครบ 100 ปี (พ.ศ. 2535) ได้มีการจัดงานที่ระลึกขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนรอยไปสู่อดีต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายได้ทราบถึงความเป็นมาของศาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับกระบวนการยุติธรรม ย้อนร้อยอดีตไป 700 ปี เริ่มที่
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระมหากษัตริย์ไทยทรงแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งอีกครั้งว่าพระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม ให้แก่อาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง เมื่อนายบุญศรีช่างเหล็กหลวงได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีโดยอำแดงป้อมผู้เป็นภรรยาได้นอกใจทำชู้กับนายราชาอรรถและมาฟ้องหย่านายบุญศรีไม่ยอม
หย่าให้ แต่ลูกขุนตัดสินให้หย่าได้ นายบุญศรีเห็นว่าตัดสินไม่เป็นธรรมจึงร้องทุกข์ถวายฎีกา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสอบสวน พบว่าลูกขุนตัดสินต้องตรงความกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า “ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าให้หญิงหย่าชายได้” พระองค์ทรงพระราชดำริว่า หลังจากเสียกรุงแก่พม่าแล้ว มีการดัดแปลงแต่งเติมกฎหมายให้ฟั่นเฟือนวิปริต ขาดความยุติธรรม สมควรที่จะชำระสะสางใหม่เพื่อให้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรวจสอบกฎหมายต่าง ๆ ให้ตรงตามพระธรรมศาสตร์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ และเพื่อป้องกันการดัดแปลงแก้ไขจึงทรงโปรดให้จัดทำเป็น 3 ฉบับมีข้อความตรงกันแยกเก็บไว้ที่ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง แห่งละ 1 ฉบับแต่ละฉบับประทับตราเป็นสัญลักษณ์ 3 ดวง คือ
1.ตราพระราชสีห์
2.ตราพระคชสีห์
3.ตราบัวแก้ว
เรียกว่า กฎหมายตราสามดวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระทัยใส่ในการพิจารณาคดีกับทรงห่วงใยในการดำเนินคดีต่ออาณาประชาราษฎร์ จึงทรงให้ขุนศาลตุลาการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว โดยการกำหนดขั้นตอนให้ปฏิบัติหากมีปัญหาให้นำความกราบบังคมทูล พระมหากรุณาห้ามกดความของราษฎรให้เนิ่นช้าเป็นอันขาดพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ทรงมีพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งต่องานศาล และกระทรวงยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไป ในด้านการพิจารณาคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรมนั้น หลักใหญ่ยังคงใช้วิธีเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา 
กฎหมายที่ใช้บังคับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เป็นกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่รวบรวมใหม่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ซึ่งต่อมาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติใหม่เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัยการบังคับใช้กฎหมายและระบบพิจารณาคดีแบบกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกไม่มีปัญหา แต่นานเข้ากรุงรัตนโกสินทร์มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบศาลในการพิจารณาคดีกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับมาแต่โบราณไม่เหมาะสม เนื่องจากการพิจารณาไต่สวนคดีล้าสมัย เช่น การทรมานให้รับสารภาพ และการลงโทษที่รุนแรงและทารุณต่าง ๆ 
ปัญหานี้เริ่มชัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาวต่างประเทศขอทำสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตไม่ยอมขึ้นศาลไทย เริ่มจากประเทศอังกฤษขอตั้งศาลกงสุลประเทศแรก เพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับของอังกฤษตกเป็นจำเลย ต่อมาชาติอื่น ๆ ก็ขอตั้งศาลกงสุลของตนบ้าง เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ทำให้คนไทยต้องเสียเอกราชทางศาลบางส่วนไปเมื่อมีกรณีพิพาทกับชาวต่างประเทศ มีผู้พิพากษาเป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำต้องปรับปรุงการศาลให้ทันสมัย โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายมารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน จัดตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ร.ศ. 101) โปรดเกล้าให้จารึกเรื่องที่ทรงพระราชดำริให้สร้างศาลหลวงนี้ไว้ในหิรัญบัตรบรรจุหีบไว้ในแท่งศิลาใหญ่ ซึ่งเป็นศิลาปฐมฤกษ์

เพื่อให้เป็นสิ่งสำคัญประจำศาลสืบไปภายหน้า ขอให้ธรรมเนียมยุติธรรมนี้จงเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลสมดังพระบรมราชประสงค์โดยสุจริตศาลสถิตย์ยุติธรรมนี้เป็นที่ประชุมของลูกขุนตระลาการ ขุนศาลทุกกระทรวง และกำหนดให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่พิจารณาคดี ีและศาลยุติธรรมอยู่ฝ่ายเดียวมิให้เกี่ยวกับราชการอื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษากฎหมายต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ทุกประเภทให้อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อจะให้สอบสวนง่ายทำให้คดีเสร็จเร็วขึ้น 
ต่อมา 1 ปีประเทศอังกฤษยอมผ่อนปรนเอกราชทางการศาลกับไทย โดยยอมให้ตั้งศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก ศาลนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาไทย และกงสุลอังกฤษนั่งร่วมกันพิจารณาคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความกันเอง หรือคนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่อังกฤษก็ยังสงวนสิทธิที่จะถอนคดีไปให้ศาลกงสุลอังกฤษพิจารณาคดีเอง
ต่อมาปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงยุติธรรม โดยใช้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นที่ทำการ โดยเริ่มจากการรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ก่อนทำให้ศาลในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีถึง 16 ศาลเหลือเพียง 7 ศาล ครั้นรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 ได้รวบรวมศาลหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นศาลมณฑลสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยเริ่มจากตั้งศาลมณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัถยาในพระราชวังจันทร์เกษมเป็นที่ทำการ หลังจากนั้นได้ตั้งศาลมณฑลอื่น ๆ ตลอดราชอาณาจักร ศาลหัวเมืองในขณะนั้นมี 3 ประเภท คือ ศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง เมื่อสถาปนากระทรวงยุติธรรมและจัดระเบียบการตั้งศาลหัวเมืองแล้ว 
ได้มีการปฏิรูปศาลให้ทันสมัยมากมาย เช่น ดำเนินการแยกอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการออกจากกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก ส่วนหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา

ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดี การสืบพยานให้รวดเร็วและทันสมัย เปลี่ยนโทษเฆี่ยนตีมาเป็นโทษจำขังแทน เลิกวิธีพิจารณาคดีโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. 115 โดยยกเลิกวิธีทรมานต่าง ๆ ให้รับสารภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายและระบบศาลต่าง ๆ อีกหลายประการ นับว่าการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมก่อให้เกิดการพัฒนาทางศาลอย่างมากมาย ภายหลังจากการตั้งกระทรวงยุติธรรม 1 ปีก็ยกเลิกศาลกรมกองตระเวน ตั้งใหม่เป็นศาลโปริสภา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดศาลแขวงต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อยสำหรับประชาชน 4 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ คือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับในคดีครอบครับและมรดก

สำหรับอิสลามศาสนิกที่มีภูมิลำเนาใน 4 จังหวัดดังกล่าว มีดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาร่วมด้วยซึ่งเป็นการขยายความยุติธรรมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นและยังถือเปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอิตาลี ยินยอมให้คนในบังคับของตนที่อยู่ในภาคเหนือขึ้นศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ทำนองเดียวกับ ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญายินยอมให้คนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เมื่อประเทศไทยใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เมื่อ พ.ศ. 2451 อันเป็นประมวลกฎหมายระบบสากลฉบับแรกของไทย หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยทำสนธิสัญญาคืนอำนาจศาลให้ไทยโดยให้คนในบังคับของตนขึ้นศาลไทย
ต่อมาปี พ.ศ. 2455 จึงมีการแยกอำนาจตุลาการออกจากกระทรวงยุติธรรมตามระเบียบจัดราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 ซึ่งกำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจบังคับบัญชาฝ่ายธุรการของกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียว ส่วนอธิบดีศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ การโยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา และวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเป็นหลักที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนศาลเมืองเป็นศาลจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองกระทรวงมหาดไทยที่เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี
ในปี พ.ศ. 2457 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนจากเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในปี พ.ศ. 2462 ส่วนประเทศพันธมิตรที่ร่วมชนะสงคราม ก็ได้รับรองเอกราชทางการศาลไทยด้วย ในช่วงนี้นับว่าไทยได้รับเอกราชทางการศาลเกือบสมบูรณ์ นอกจากนั้นประเทศสัมพันธมิตรก็ยังให้สนธิสัญญาว่า หากประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมครบถ้วนแล้วจะให้เอกราชทางการศาลไทยโดยสมบูรณ์ภายใน 5 ปี ในขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อยู่หนึ่งฉบับ และได้รีบเร่งร่างกฎหมายที่เหลืออีก 3 ฉบับ
พ.ศ. 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ปวงชนชาวไทย การดำเนินการในเรื่องเอกราชทางการศาลได้กระทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พ.ศ. 2477 ครบถ้วนเป็นฉบับสุดท้าย
พ.ศ. 2481 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประเทศต่าง ๆ จึงได้ยกเลิกสนธิสัญญาโดยให้เอกราชทางการศาลไทยจนหมดสิ้นซึ่งเร็วกว่ากำหนด 2 ปี พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนศาลมณฑลเป็นศาลจังหวัด และเรียกศาลในสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรม แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น
ศาลฎีกา

เป็นศาลสูงสุดของประเทศมีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา
ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลางมี 4 ศาล ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีเขตอำนาจในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจในเขตพื้นที่ภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคใต้
ศาลชั้นต้น 
เป็นศาลที่รับฟ้องในเรื่องชั้นคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลแขวงต่าง ๆ กับศาลชั้นต้นในจังหวัดอื่น ๆ 
นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดทางด้านการยุติธรรมนับตั้งแต่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก็ได้สร้างความเจริญให้แก่ศาลและวงการตุลาการของไทยในการพัฒนาก้าวหน้าควบคู่กันมาโดยตลอดจนกระทั่งเป็นศาลที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรม ก็มีบทบาทในการสนับสนุนงานยุติธรรมของศาลด้านงบประมาณ งานด้านอาคารสถานที่ และงานธุรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน 
เช่น จัดตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลางและสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ทำให้ลดจำนวนคดีลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่งจึงขยายงานคุมประพฤติ ตั้งเป็นกรมคุมประพฤติ ใน พ.ศ. 2535 จัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการ
เพื่อเผยแพร่การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องขึ้นศาลในด้านการพัฒนาที่ทำการของศาลนั้น กระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการจัดตั้งที่ทำการศาลเพิ่มเติมตลอดมา 
เพื่อให้เพียงพอต่อการพิจารณาคดีและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในโอกาสครบ 100 ปีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2535 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเปิดอาคารที่ทำการใหม่ สำหรับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลภาษีอากรกลาง จะเห็นได้ว่ากระทรวงยุติธรรมนั้นได้ปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรองรับงานยุติธรรมของศาลได้ ใน พ.ศ. 2534 แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน การบริหารงานราชการของกระทรวงยุติธรรมมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วและเป็นธรรม อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันกับศาลยุติธรรม ดังนั้นศาลและกระทรวงยุติธรรม จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลา 100 ปี 
สถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่องานศาลและกระทรวงยุติธรรม คือ องค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นต้นกำเนิดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบศาลและงานยุติธรรม
ดังที่ทราบกันมาแล้วแม้ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงให้ความสำคัญต่องานยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่าบูรพกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แม้จะมีพระชนม์น้อยแต่ทรงสนพระทัยในกิจการศาลเป็นอันมาก ทรงเสด็จเหยียบศาลหัวเมือง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดนครปฐม และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา การเสด็จเหยียบศาลถึง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จประทับบัลลังก์ร่วมกับพระอนุชา ในการพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้พิพากษา 
คดีที่ทรงเป็นประธานในการพิจารณาพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง เป็นคดีลักทรัพย์ซึ่งจำเลยไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษตามพระบรมราชวินิจฉัย เป็นผลให้จำเลยทั้ง 2 คดีมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เป็นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศาลยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน 
ดังกระแสพระราชดำรัสในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงยุติธรรม และศาลยุติธรรม นับตั้งแต่เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2495 “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้มีไมตรีจิตมาร่วมชุมนุมต้อนรับข้าพเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน การศาลยุติธรรมมีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัยและความเที่ยงธรรมของคนทั้งประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมสม่ำเสมอเป็นหลักอันคนทั้งปวงพึงยึดถือเป็นที่พึ่งได้เนืองนิจ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสาทความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่กาลสมัย ข้าพเจ้ามีความพอใจในประวัติของกระทรวงยุติธรรมและชื่อเสียงของศาลยุติธรรมที่ได้เป็นมา และความสามัคคีกลมเกลียวเป็นสมานฉันท์ของบรรดาข้าราชการกระทรวงยุติธรรม” ศาลยุติธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศและด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ทำให้ศาลในพระปรมาภิไธยมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้สามารถประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่านั้นในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วผู้ต้องคำพิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสสุดท้ายที่จะยื่นเรื่องราวต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษได้อีก องค์พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม และเป็นที่พึงสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริงสืบมา
ศาลปกครอง เป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"
ศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองกลาง มีอำนาจตัดสินคดีในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัดใกล้เคียง หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 8 แห่ง ที่
ศาลปกครองเชียงใหม่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน
ศาลปกครองแพร่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัด น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์
ศาลปกครองสงขลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในนราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ศาลปกครอง นครราชสีมา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่ชัยภูมิและนครราชสีมา และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในบุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ
ศาลปกครองขอนแก่น มีเขตอำนาจตลอดท้องที่กาฬสินธุ์ ขอนแก่นและมหาสารคาม และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในนครพนม มุกดาหาร เลย สกลนครหนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
ศาลปกครองพิษณุโลก มีเขตอำนาจตลอดท้องที่กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย
ศาลปกครองระยอง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราดปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจท้องที่กระบี่ นครศรีธรรมราช พังงาภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในชุมพร และระนอง
ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ที่ทำการศาลปกครอง อยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ศาสตราจารย์ ดร. อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด
นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด
นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายพีระพล เชาว์ศิริ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายดำริ วัฒนสิงหะ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายอำพล สิงหโกวินท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายธงชัย ลำดับวงศ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายปรีชา ชวลิตธำรง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายไพบูลย์ เสียงก้อง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (ย้ายไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 เมษายน 2549) และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550
ประวัติความเป็นมาของสำนักงานศาลยุติธรรม
นับตั้งแต่กระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรม 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่า ศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาคดี จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 275 บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสสระให้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสสระมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงถือว่าแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรมนับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป
ระบบศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มีอยู่ทั่วราชอาณาจักรและระบบศาลยุติธรรมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาศาลยุติธรรมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความยุติธรรมและการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นเป็นศาลซึ่งรับคำฟ้องหรือคำร้องในชั้นเริ่มต้นคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาแล้วจึงตัดสินชี้ขาดทั้งมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในบางเรื่องด้วย ศาลชั้นต้นทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ศาลชั้นต้นทั่วไปสำหรับกรุงเทพมหานครได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ฯลฯ
2. ศาลชั้นต้นทั่วไปสำหรับจังหวัด อื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยศาลจังหวัดและศาลแขวงในภาค 1 – 9 ศาลจังหวัดระนองจัดอยู่เป็นศาลชั้นต้นทั่วไปสำหรับจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)



อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

           หลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ "อภิสิทธิ์1" ก็คลอดออกมาอย่างเสร็จสมบูรณ์ ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แถมมีกระแสข่าวการแย่งตำแหน่งและการไม่พอใจตำแหน่งรัฐมนตรีบางคนของสมาชิก ส.ส. พรรคประชาธิปปัตย์นั้น แต่สุดท้ายคณะรัฐมน อภิสิทธิ์ก็เปิดเผยและลงตัวแล้ว . . . ส่วนใครเป็นใคร มาจากไหนนั้น วันนี้กระปุกนำข้อมูลของคณะรัฐมนตรีทั้งชุดมาฝากกันค่ะ

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 
          อายุ 44 ปี เกิด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เป็นมหาบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในสาขาปรัชญาการเมือง และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สมรสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ (ศกุนตาภัย) เวชชาชีวะ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรด้วยกัน 2 คน … อ่านประวัติ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทั้งหมดที่นี่ค่ะ


 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง
สุเทพ เทือกสุบรรณ

          อายุ 59 ปี ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "เทพเทือก" จบการศึกษาปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท M.A. Political Sciences จาก Middle Tennesse State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลท่าสะท้อนต่อจากบิดา ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก เพราะในยุคนั้นรัฐมนตรีบางกระทรวงยังจบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาตัดสินใจลงเล่นการเมืองระดับประเทศ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุราษฎ์ธานี เมื่อปี 2522 และชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต่อเนื่องถึง 10 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์


 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ
 
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

         อายุ 59 ปี  จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียโพลีเทคนิค ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับประกาศนียบัตรการอบรมบริหารชั้นสูง จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2534 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครราชสีมามาหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย  ในปี 2544 เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.ในกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อการเลือกตั้งปี 2548 แต่ไม่ได้รับเลือก จากนั้นจึงพลิกบทบาทไปเขียนหนังสือแนวการเปิดโปงการทุจริตหลายเล่ม เช่น ใครว่าคนรวยไม่โกง ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็น รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสังคม
สนั่น ขจรประศาสน์

          ส.ส.พิจิตร  อายุ 73 ปี อดีตทหารม้า ผ่านสมรภูมิมาทุกรูปแบบ ทั้งเผด็จการ รัฐประหาร เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยุคชวน หลีกภัย เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังพ้นการถูกตัดสิทธิทางการเมือง  5  ปี ก็นำสมาชิกพรรคมหาชนเข้าร่วมพรรคชาติไทย ทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรค ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อพรรคชาติไทยจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน

 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย


          อายุ 47 ปี จบปริญญาตรี จาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาโท จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกียรตินิยมอันดับ1 เป็นส.ส.จังหวัดตรังหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลชวน 2 และเคยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

 นายวีระชัย  วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
วีระชัย  วีระเมธีกุล

          อายุ 41 ปี จบ MBA จากมหาวิทยาลัย Clark University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก บัญชีดุษฎีบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank, กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง, ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวีระชัยเป็นอดีตลูกเขยผู้บริหารในเครือซีพีที่ได้รับโควตาคนนอกเข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเบียดกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง มาได้นาทีสุดท้าย


 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  อดีต.ผบ.ทบ.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ประวิตร วงษ์สุวรรณ

          อายุ 63 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ ทั้งรองแม่ทัพภาคที่ 1 , แม่ทัพภาคที่ 1,ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ, ผู้ช่วยบัญชาการทหารบก และในปี 2547 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว ประจำปีพุทธศักราช 2540 สาขาการพัฒนาทางทหาร ปัจจุบันเป็นประธานนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6

 นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กรณ์ จาติกวณิช

          ปัจจุบันอายุ 44 ปี ได้รับสมญานามว่า "หล่อโย่ง" เพราะมีความสูงถึง 193 เซนติเมตร จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เคยดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเจพี มอร์แกน (ประเทศไทย), ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัยเพียง 24 ปี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งเข้าสู่การเมืองในวัย 40 ปี จากการชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งที่เรียนอยู่ประเทศอังกฤษ ในปี 2548 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 7 กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2551 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค


 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์


          อายุ 53 ปี จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จากนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น เริ่มชีวิตนักการเมืองในนาม ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลชวน 2 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หลังรัฐประหารได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาร่วมกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค และหลังการเลือกตั้งปี 2550 ได้ดำรงำแหน่งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลสมัคร 1 และรัฐบาลสมชาย


 นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
พฤฒิชัย ดำรงรัตน์

          อายุ 45 ปี จบปริญญาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยา เป็นแพทย์ที่ก่อตั้งคลีนิกรักษาคนไข้ในนาม "มูลนิธิทานตะวัน 19"  ซึ่งเป็นคลีนิกรักษาคนไข้ที่มีรายได้น้อย ตลอดจนผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาสโดยคิดค่ารักษาและค่ายาในราคา 19 บาท ต่อคน ต่อครั้ง อีกทั้งได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตระเวณตรวจรักษาฟรี ให้กับประชาชนทั่วไปในเขต บึงกุ่ม ห้วยขวางและอื่นๆ เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.กทม. ในนามพรรคไทยรักไทย เคยดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน


 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

          อายุ 49 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายเปรียบเทียบ) สหรัฐอเมริกา และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายอเมริกันทั่วไป) สหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานครครั้งแรก เมื่อปี 2539 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายพิจิตต รัตตกุล) และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง


 นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วิทยา แก้วภราดัย


          อายุ 53 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเป็นหนึ่งในนิสิตที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เข้าสู่วงการเมืองโดยเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้


 นายมานิต นพอมรบดี พรรคภูมิใจไทย หรืออดีตมัชฌิมาธิปไตย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
มานิต นพอมรบดี


          อายุ 53 ปี สามีของนางกอบกุล นพอมรบดี ส.สราชบุรี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2549 นายมานิตย์ สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ราชบุรี ในสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


 นายธีระ สลักเพชร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ธีระ สลักเพชร

          อายุ 51 ปี จบปริญญาตรี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็น ส.สตราด สมัยแรกในปี 2539 และได้รับเลือกตั้งมาตลอด มีประสบการณ์ทำงานเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว และประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎรของสภาผู้แทนราษฎร และในฝ่ายบริหารเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์


 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

          อายุ 52 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพังงาหลายสมัย ปี 2529 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ดาวรุ่ง (ส.ส. ใหม่ดีเด่น) โดยสื่อมวลชนสายรัฐสภา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลชวน 1 ก่อนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลชวน 2 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


 นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา
ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์

          อายุ 49 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตากก่อนจะเข้าสู่การเมืองใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตาก หลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือ

 นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์


          จบการศึกษาปริญญาโท (MA) สาขาการตลาด Webster University, USA เป็นภรรยาของนายสุชาติ ตันเจริญ หัวหน้ากลุ่มริมน้ำ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทภูเก็ตอินเทอร์เน็ตจำกัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบอร์ดทีโอที สมัยนายมั่น พัธโนทัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

 นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ไพฑูรย์ แก้วทอง

          อายุ 73 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพิจิตร 9 สมัย เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม


 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

          อายุ 69 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2504 และได้ทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ก่อนจะได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก สาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน จนสำเร็จการศึกษาในปี 2513 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทคขึ้นในปี พ.ศ. 2529 และทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตลอด เข้าสู่วงการเมืองด้วยการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 แต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส กรุงเทพมหานคร


 นายกษิต ภิรมย์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
กษิต ภิรมย์

          อายุ 64 ปี สำเร็จการศึกษา ด้านการต่างประเทศ (International Affairs) จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีประสบการณ์ด้านต่างประเทศมายาวนาน เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ คือ ประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ และที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในสมัยรัฐบาลชวน  หลีกภัย และที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร


 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล กลุ่มเพื่อนเนวิน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล

          อายุ 72 ปี เป็นบิดาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สำเร็จการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2 สมัย และนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยสมัคร 1 ตามโควตานครบาลของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากนั้นขยับขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก่อนกลับมาว่าการที่สาธารณสุขอีกครั้ง และได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมตรี หลังจากศาลมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน


 นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กลุ่มเพื่อนเนวิน  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
บุญจง วงศ์ไตรรัตน์


          อายุ 47 ปี  จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองโดยเล่นการเมืองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา 2 สมัย ก่อนจะลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคพลังประชาชน ภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกตัดสินยุบพรรค จึงออกมาเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน โดยหันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้จัดตั้งรัฐบาลแทน


 นายถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ถาวร เสนเนียม


          อายุ 61 ปี เป็น ส.ส.สงขลาหลายสมัย จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักฝึกอบรมกฎหมาย และรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก่อนเข้าสู่การเมืองเคยเป็นทนายความ และอัยการประจำจังหวัดกระบี่และพัทลุงมาก่อน นายถาวรเป็นผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร ในกรณีจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการการยุติธรรมและมนุษยชน และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


 นายโสภณ ซารัมย์ กลุ่มเพื่อนเนวิน  นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
โสภณ ซารัมย์

          อายุ 49 ปี เป็น จบวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ก่อนลาออกมาเป็น ส.ส สังกัดพรรคชาติไทย ปี 2544 เคยทำงานในหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จนสร้างความไม่พอใจให้ครูทั่วประเทศมาแล้ว เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลสมชาย


 นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่น กลุ่มเพื่อนเนวิน  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ


          อายุ 57 ปี จบศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย,ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศาสตร์ สถาบันราชภัฏเลย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฏเลย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส ขอนแก่น 2 สมัย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร, นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น 2 สมัย


 นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร

          อายุ 45 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำธุรกิจส่วนตัวก่อนที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในนามพรรคชาติไทย เมื่อปี 2550 และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการธิการการศึกษา รวมทั้งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี


 ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี


          อายุ 51 ปี ภรรยาของว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำกลุ่มโคราชพรรคเพื่อแผ่นดิน จบการศึกษาพยาบาลศาสตร์ มหาวทิยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.สาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา ก่อนลาออกลงเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2549 และลงสมัคร ส.ส.จนได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย


 นางพรทิวา นาคาศัย พรรคภูมิใจไทย หรือ มัชฌิมาธิปไตย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พรทิวา นาคาศัย
          อายุ 47 ปี เป็นภรรยาของนายอนุชา นาคาศัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยนาท พรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ชัยนาทในปี 2549 ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.ในปี 2550 แทนสามีที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย สายกลุ่มนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (กลุ่มวังน้ำยม) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค ก่อนที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยจะถูกยุบ จึงไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยแทน

          นางพรทิวา นาคาศัย จบการศึกษาจากรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ การปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า


 นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
อลงกรณ์ พลบุตร

          อายุ 52 ปี จบปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานด้านหนังสือพิมพ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่การทำรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี 2534 จะเป็นจุดพลิกผันในตัดสินใจลงเล่นการเมืองในจังหวัดเพชรบุรี และได้รับการเลือกตั้งมาหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการสภาพรรคการเมืองเสรีประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (CALD) และได้รับฉายาว่า "มิสเตอร์เอทานอล" จากการเป็นผู้ผลักดันให้โครงการเอทานอลเกิดขึ้นในประเทศไทย และทำให้เกิดโรงงานเอทานอลจำนวนมาก

 นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

          อายุ 59 ปี เป็นหมออายุรศาสตร์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MASTER OF PUBLIC HEALTH UNIVERSITY OF HAWAII , วิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรศาสตร์ แพทยสภา, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็น ส.ส.นครราชสีมา 5 สมัย แต่งงานกับพี่สาวของ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ จึงอยู่ในฐานะคู่เขยของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์


 นายสุวิทย์ คุณกิตติ พรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
สุวิทย์ คุณกิตติ

          อายุ 51 ปี จบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเคมี จากสหรัฐอเมริกา, ปริญญาดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน เป็นส.ส.ขอนแก่น มา 8 สมัย  โดยเริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากพรรคกิจสังคม ก่อนย้ายไปพรรคเอกภาพ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม แทนนายมนตรี พงษ์พานิช ก่อนที่จะไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค นายสุวิทย์จึงออกมาตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ร่วมกับกลุ่มปากน้ำของ นายวัฒนา อัศวเหม และได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน และลงสมัคร ส.ส.จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

          แม้นายสุวิทย์ คุณกิตติ จะไม่ได้รับเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลสมัคร ก่อนจะลาออกจากพรรคเพื่อแผ่นดินด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องกรณีเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก, การจวบจ้วงเบื้องสูง และการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ อดีตเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, รองนายกรัฐมนตรี


 นายธีระ วงศ์สมุทร พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ธีระ วงศ์สมุทร

          อายุ 60 ปี สำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับราชการในกระทรวงเกษตรฯ มานาน ทั้งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการก่อสร้าง (วิศวกรโยธา 8 ) , ผู้อำนวยการกองก่อสร้างโครงการใหญ่, ผู้อำนวยการสำนัก (วิศวกรโยธา 9), รองอธิบดี (นักบริหาร 9) กรมชลประทาน, ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ 10) รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร 10 ) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน นายธีระเติบโตมาจากสายของพรรคชาติไทยโดยตรง


 นายชาติชาย พุคยาภรณ์  กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ชาติชาย พุคยาภรณ์

           ดร.ชาติชายเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาครั้งนี้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก


 นายชุมพล ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ชุมพล ศิลปอาชา

          อายุ 68 ปี จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท  สาขาบริหารรัฐกิจ Syracuse University สหรัฐอเมริกา เคยรับราชการเป็นข้าราชการสำนักงาน ก.พ. และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเข้ามาสู่สนามการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา พี่ชาย เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะหายไปจากวงการเมือง เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ และมีข่าวระหองระแหงกับพี่ชาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนนายชุมพล แยกตัวออกมาเป็น ส.ว. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 ครั้งนี้กลับมาในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แทนที่พี่ชายที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี


 นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง

          อายุ 66 ปี เป็นเจ้าของห้องอาหารขนาบน้ำ จบปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฎมหาสารคาม และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น ส.ส มหาสารคามมาหลายสมัย เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ นายชาญชัยจึงย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ก่อนหน้าเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร, เลขานุการประจำรัฐสภา, เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, รองโฆษกรัฐบาล


 นายวิฑูรย์ นามบุตร  ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วิฑูรย์ นามบุตร


          อายุ 49 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประกอบอาชีพทนายความก่อนเข้าสู่วงการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส อุบลราชธานี 6 สมัย เคยเป็นเลขานุกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


          ทั้งนี้ ได้วางตัวนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายศิริโชค โสภา เป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ